แต่ดั้งแต่เดิมบรรดาผู้ปกครองชาวรัสเซียมีนโยบายอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จจงได้นั่นก็คือแสวงหาดินแดนที่เป็นทางออกทะเลน้ำอุ่น ถึงแม้ พระเจ้าปีเตอร์มหาราช จะทรงยึดดินแดนปากแม่น้ำเนวามาได้จากสวีเดนและสถาปนาเป็นเมืองหลวงใหม่คือ กรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งทำให้รัสเซียมีดินแดนออกทะเลเป็นครั้งแรก แต่บริเวณอ่าวฟินแลนด์ของเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กในช่วงหน้าหนาวก็กลายเป็นน้ำแข็งอยู่ดี จนกระทั่งหลานสะใภ้อย่าง ซารีนาแคเธอรีนที่สอง มหาราชินี ได้ทำความฝันของซาร์ปีเตอร์มหาราชได้สำเร็จ เข้าครอบครอง ดินแดนไครเมียและชายฝั่งทะเลดำทางตอนใต้แทนออตโตมานเติร์ก ทำให้รัสเซียมีดินแดนติดทะเลน้ำอุ่นเป็นครั้งแรก
นอกเหนือจากเหตุผลด้านความมั่นคงทางทหารและเหตุผลทางความมั่นคงทางการเมือง ไครเมีย ยังกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของบรรดาชนชั้นนำรัสเซียตั้งแต่พระเจ้าซาร์ลงมาจนถึงปัญญาชน นักเขียนต่าง ๆ ด้วยความที่ไครเมียตั้งอยู่บนภูมิภาคที่อบอุ่นแบบเมดิเตอเรเนียน เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจและพักฟื้นจากอาการของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และส่วนมากก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มากกว่าครึ่งชีวิตเพราะในเมืองหลวงนั้นความหนาวคิดเป็น 3 ใน 4 ของเวลาทั้งปี และ พระราชวังลิวาเดียก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของสถานที่ที่พระเจ้าซาร์และพระบรมวงศ์แปรพระราชฐานมายังสถานที่นี้เป็นระยะเวลาถึง หกเดือนในรอบแต่ละปี
พระราชวังลิวาเดีย (Livadia Palace) สร้างขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1860 ในสมัยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สอง เพื่อเป็นสถานที่แปรพระราชฐานของซาร์และพระบรมวงศ์เรื่อยมาจนถึงสมัยที่ซาร์อเล็กซานเดอร์สามทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ณ สถานที่แห่งนี้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หากบ้านเราองค์เหนือหัวมีพระราชวังไกลกังวัลแห่งประเทศไทยแล้ว พระเจ้าซาร์เองก็มีลิวาเดียเป็นพระราชวังไกลกังวลแห่งรัสเซียเช่นกัน
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซาร์นิโคลัสที่สองทรงมีพระดำริให้มีการปรับปรุงพระราชวังหลังเก่าที่มีสถาปัตยกรรมแบบ พระราชวังข่านตาตาร์ (Crimean-Tatar) โดยทุบทิ้งเกือบทั้งหมดแล้วสร้างหลังใหม่ที่ใหญ่แลโอ่อ่ากว่าเดิมในสไตล์นีโอ-เรอเนสซองส์ (Neo-Renaisance) สร้างแล้วเสร็จในปี 1911 เปิดครั้งแรกกับการฉลองวันประสูติของเจ้าหญิงโอลก้า พระราชธิดาในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองครบ 16 ชันษา ออกแบบโดย นิโคลัย คราสนอฟ สถาปนิกชื่อดังที่ออกแบบพระราชวังโวโรนซอฟ สร้างในรูปแบบนีโอเรอเนสซองส์หรือเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกอิตาลีต่างๆ
หลังการปฏิวัติในปี 1917 สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรีย ฟีโอโดรอฟนา พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระราชชนนีในซาร์นิโคลัสที่สอง ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองจากกรุงเปโตรกราดลงมายังไครเมีย โดยได้เสด็จมาพำนักที่พระราชวังลิวาเดียเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะเสด็จโดยเรือพระที่นั่งมาร์ลโบโรของอังกฤษเสด็จออกจากรัสเซีย และโดยเฉพาะหลังจากการปฏิวัติบัลเชวิก กรรมสิทธิในที่ดิน ธุรกิจและทรัพย์สินต่าง ๆ ถูกยึดเข้ารัฐ พระราชวังลิวาเดียก็เช่นกัน
หลังจากที่รัฐบาลโซเวียตยึดพระราชวังลิวาเดียให้ตกเป็นของรัฐ ที่นี่ก็กลายเป็นสถานพักฟื้นสำหรับประชาชนชาวกรรมาชีพก่อนที่จะมาเป็นที่พำนักของประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกาในช่วงการ ประชุมสุดยอดยัลตา (Yalta Conference) สามฝ่าย โดยโยซิฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต แฟรงคลิน รูสเวลต์ ผู้นำสหรัฐ และวินสตัน เชอร์ชิล ผู้นำอังกฤษ ในปี 1945 ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองยุติ และกลับมาเป็นสถานตากอากาศพักฟื้นสำหรับประชาชนอีกครั้งก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์
พระราชวังลิวาเดียออกแบบโดย นิคาลัย คราสนอฟ (Nikolai Krasnov) เอกสถาปนิกรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 20 มีผลงานสร้างวังและคฤหาสน์บรรดาขุนนางและเศรษฐีรัสเซียในยุคนั้นมาแล้วนับไม่ถ้วน โดยตัวอาคารเป็นหินแกรนิตสีขาวทั้งหลังนำเข้าจากอิตาลี ออกแบบให้ล้อมรอบสวนอิตาเลียนขนาดย่อมที่อยู่ตรงกลาง (Italian Courtyard) มีลานหินอ่อนแบบอาหรับและอิตาเลี่ยน หอคอยแบบฟลอเรนซ์ หน้าต่างที่หรูหรา มีห้องหับกว่า 116 ห้อง อาทิห้องโถงสไตล์ปอมเปอี ห้องบิลเลียร์ดแบบอังกฤษ ห้องเสวยแบบนีโอบาโร้ก (Neo-Baroque) ตามห้องต่าง ๆ มีพระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์และการจัดโต๊ะทรงงานราวกับว่าพระองค์ยังคงอยู่ที่นี่ ทั้งรูปถ่ายส่วนพระองค์ที่มีทุกคอลเลคชั่น ทั้งมาดขรึม ผ่อนคลาย รวมไปถึงพระอารมณ์ขันที่เราจะสามารถเห็นได้จากรูปถ่ายส่วนพระองค์ ซึ่งคอลเลคชั่นดังกล่าวทำให้เราได้ทราบถึงกิจกรรมยามว่าของพระองค์ว่าพระองค์เป็นตากล้องตัวยงแห่งปลายศตวรรษที่ 19 และต่อต้นศตวรรษที่ 20
โดยมีไฮไลท์คือห้องสีขาวที่เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีโต๊ะยาวจุดสุดพื้นที่โถง ความสำคัญคือเป็นสถานที่ที่ใช้จัดประชุมสุดยอดยัลต้าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผู้นำโซเวียต อังกฤษและอเมริกา ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆยังคงถูกเก็บรักษาไว้เหมือนครั้งที่มีการประชุม ถ้าใครเป็นพวกสายอินประวัติศาสตร์สงครามโลก น่าจะรู้สึกอินและขนลุกไปกับสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งนี้
โถงนี้ยังถูกใช้ในยุคปัจจุบันในฐานะห้องประชุมระดับชาติ เช่นการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำรัฐบางมอสโกกับผู้นำของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียที่เคยทำประชามติแยกตัวออกจากอูเครน และทำประชามติอีกครั้งเพื่อขอเข้าร่วมดินแดนกับรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน
บรรยากาศด้านนอก ถ้าหากว่ามาในช่วงปลายเดือนเมษาต่อต้นเดือนพฤษภา จะมีดอกทิวลิปบานสะพรั่งไปทั่วบริเวณ มีอยู่ทุกที่ที่เป็นโซนสวน อากาศกำลังดีมีลมจากทะเลดำพัดโกรกตลอดเวลา ช่วงปลายกันยาต่อต้นตุลาก็จะให้บรรยากาศใบไม้กำลังผลัดใบ ใบไม้สีทองร่วมปกคลุมไปทั่ว อากาศเย็นสบายแดดไม่แรงมาก ชิลสุด ๆ เป็นอีกที่ที่ห้ามพลาดโดยเด็ดขาดเมื่อมีโอกาสได้มาเยือนไครเมีย
สำหรับเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจไปร่วมยลโฉมพระราชวังลิวาเดียพระราชวังไกลกังวลแห่งรัสเซีย สามารถดูรายละเอียดการเดินทางได้ตามลิงค์นี้ http://l.ead.me/bb4uGq
” ไครเมีย : เพชรยอดมงกุฎแห่งรัสเซีย “
9 วัน 7 คืน เพียง 115,000 บาท เที่ยวครบ ทานดี พักหรู อยู่สบาย
โดยพระราชวังลิวาเดียจะเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ไฮไลท์ที่เราจะไปเจาะลึกกันที่ไครเมีย
อ่านบทความอื่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว >>> https://www.patourlogy.com/blog/inspiration
สนใจทัวร์เดินทางไปยังประเทศรัสเซีย และ อดีตสหภาพโซเวียตของเรา >>> https://www.patourlogy.com/destination/russia-and-ussr