ซาร์นิโคลัส และข้อเท็จจริงของการลอบสังหาร ครบรอบ 101 ปีของเหตุการณ์ประหารหมู่ซาร์องค์สุดท้ายและพระราชวงศ์โรมานอฟ Patourlogy ขออาสาพาทุกท่านไปสืบเสาะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ The Last Czar พระองค์นี้
1.) คดีการสังหาร ซาร์นิโคลัส ยังคงดำเนินต่อไป
แม้ว่าจะมีการพบซากพระศพและได้มีการนำไปทำพิธีทางศาสนาแล้วในปี 1994 แต่ในปี 2015 คดีนี้ก็ได้ถูกรื้อฟื้นอีกครั้งด้วยความประสงค์ของศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์ซึ่ต้องการพิสูจน์ชิ้นส่วนที่เหลือที่ได้นำมาประกอบพิธีแต่งตั้งเป็นนักบุญในภายหลังนั้นคือชิ้นส่วนจากบรรดาสมาชิกราชวงศ์จริง ๆ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่
อนึ่ง ชิ้นส่วนที่พบส่วนใหญ่ในปี 1991 นั้นไม่พบของมกุฎราชกุมารอเล็กเซย์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธออนาสตาเซีย จึงมีการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่าหรือเรื่องราวที่อนาสตาเซียหนีไปได้จะเป็นเรื่องจริง จนกระทั่งได้มีการขุดพบซากของเด็กผู้ชายซึ่งเป็นของมกุฎราชกุมารอเล็กเซย์ ส่วนของเด็กผู้หญิงคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเรีย ไม่ใช่อนาสตาเซียอย่างที่เข้าใจกันแต่แรก
2.) การสอบสวนเกี่ยวข้องกับ Duke of Edinburgh พระราชสวามีของ Queen Elizabeth II แห่งสหราชอาณาจักร
เจ้าชายฟิลิปหรือ Duke of Edinburgh ไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับพระราชวงศ์โรมานอฟได้อย่างไร ท่านถึงได้โดนเชิญไปเจาะพระโลหิตเพื่อตรวจ DNA ของพระนางอเล็กซานดรา… มาจะกล่าวบทไป จะสรุปให้สั้น ๆ คือ สมเด็จยายของเจ้าชายฟิลิป คือเจ้าหญิงวิคทอเรียแห่งแคว้น Hesse and By Rheine เป็นพี่สาวแท้ ๆ ของสมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดร้าแห่งรัสเซีย (Tsarina Alexandra of Russia) หรือพระนามเดิมคือเจ้าหญิงอาลิกซ์ (Princess Alix of Hesse and By Rhein) สั้น ๆ ของสั้น ๆ คือสมเด็จยายกับพระนางอเล็กซานดราเป็นพี่น้องกัน และสองศรีพี่น้องนี้ยังเป็นหลานยายแท้ ๆ ของสมเด็จพระนางเจ้าวิคทอเรียมหาราชินีแห่งอังกฤษอีกด้วย
3.) ชิ้นส่วนพระศพของมกุฎราชกุมารอเล็กเซย์และพระเจ้าลูกเธอมาเรียยังคงไม่ได้ทำพิธีฝัง
ชิ้นส่วนพระศพของ ซาร์นิโคลัสที่สอง พระนามอเล็กซานดร้า และพระเจ้าลูกเธอทั้งสามพระองค์ถูกนำไปทำพิธีฝั่งอย่างรัฐพิธี ณ สุสานหลวงป้อมปีเตอร์และพอล นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินเป็นประธานในพิธีถึงแม้สังฆราชอเล็กเซย์ที่สองจะไม่ได้เข้าร่วมก็ตาม
ชิ้นส่วนที่เหลือได้รับการขุดขึ้นมาจากหลุมเพื่อเก็บตัวอย่าง DNA สำหรับการสืบสวนรอบใหม่โดยสังฆราชคิริลกล่าวว่าการพิสูจน์จะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ ทุกวันนี้ชิ้นส่วนของมกุฎราชกุมารอเล็กเซย์และพระเจ้าลูกเธอมาเรียยังคงอยู่ในห้องเก็บตัวอย่าง DNA
4.) พระราชวงศ์หนีภัยใต้ธงกาชาดของญี่ปุ่น
หลังจากการสละราชสมบัติของซาร์นิโคลัสที่สองในช่วงการปฏิวัติรัสเซียรอบแรก บรรดาสมาชิกพระราชวงศ์โรมานอฟต้องระหกระเหินไปตามที่ต่าง ๆ ว่ากันว่าขบวนรถไฟพระที่นั่งพรางด้วยสัญลักษณ์กาชาดเพื่อมนุษยธรรมของญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตเมื่อเสด็จหนีภัยไปยังที่ใด ๆ
5.) ประหารเพราะการรุกคืบของฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ
ในยุคโซเวียตมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการต่อโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นว่าเป็นการประหารโดยคำสั่งของโซเวียต (สภาคนงาน) แห่งภูมิภาคอูราลโดยความจำเป็นในช่วงสงครามกลางเมืองด้วยเหตุที่กองทหารอาสาเชค (ที่เคยเป็นนักโทษสงครามจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์กำลังยุคกำลังมาตีเมืองเยคาเทรินบูร์กและอาจชิงตัวซาร์และราชวงศ์ไปได้ และความจริงก็คือทหารเชคสามารถยึดเมืองไว้ได้ 8 วันหลังจากที่ ซาร์นิโคัส และราชวงศ์ถูกสังหารไปแล้ว
6.) รัฐบาลมอสโกไม่ได้ลงนามในการประหาร
ในยุคหลังยุคโซเวียต นักประวัติศาตร์ให้ข้อสรุปว่าโซเวียตแห่งภูมิภาคอูราลเป็นผู้ออกคำสั่งประหารชีวิตซาร์และพระราชวงศ์และไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดเลยว่า เลนินหรือผู้นำบอลเชวิกที่มอสโกคนใดเป็นผู้ออกคำสั่ง นักประวัติศาสตร์บางรายอ้างว่าหนำซ้ำรัฐบาลที่มอสโกตั้งใจจะนำซาร์ขึ้นพิจารณาคดีในศาลเสียอีก
แต่บางแหล่งก็กล่าวว่ามือสังหารได้รับโทรเลขเข้ารหัสลับจากเครมลินให้สังหารเฉพาะซาร์นิโคลัส แต่ไม่ใช่ทั้งราชวงศ์ ความคิดที่จะสังหารทั้งราชวงศ์มาจากโซเวียตแห่งอูราลซึ่งหลายคนมีแนวคิดหัวรุนแรงกว่าผู้นำบอลเชวิกในเครมลิน
7.) ซากพระศพถูกฝังทำลายสองรอบ
ซาร์และพระราชวงศ์ แพทย์หลวงและข้าราชบริพารถูกนำตัวมายังห้องใต้ดินของบ้านอิปาเทียฟด้วยเหตุผลเพื่อถ่ายรูป ก่อนที่จะหักมุมด้วยการอ่านคำประกาศประหารชีวิตแล้วถูกระดมยิง หลายพระองค์รอดชีวิตจากห่ากระสุนชุดแรกเพราะมีบรรดาเพชรอยู่ในฉลองพระองค์ก็ถูกปลิดชีพซ้ำด้วยดาบปลายปืน
ซากพระศพถูกลำเลียงไปทิ้งที่เหมืองร้างในครั้งแรก ก่อนที่จะเปลี่ยนใจกู้ศพขึ้นมาจากเหมืองร้างแล้วเอาไปฝังกลบในป่าก่อนที่จะราดกรดซัลฟิวริกและจุดไฟเผาเพื่อทำลายหลักฐาน
8.) ชะตากรรมของซาร์และราชวงศ์ไม่ได้เป็นที่รับรู้กันอย่างเป็นทางการ
ทีแรกทางการโซเวียตทำเพียงแค่รายงานการสวรรคตของซาร์นิโคลัสที่สองและพระราชวงศ์ที่เหลือได้สูญหายไปในช่วงความชุลมุนของสงครามกลางเมืองรัสเซีย จนกระทั่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1920s ที่ความเริ่มแดงขึ้นมาจากปากของบรรดามือสังหาร เข้ากับสุภาษิตที่ว่ากระดูกร้องได้อย่างแท้จริง
9.) ไม่ค่อยมีประเด็นผลประโยชน์สาธารณะเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าในยุคนั้นข่าวการสวรรคตของซาร์นิโคลัสที่สองท่ามกลางสงครามกลางเมืองแทบไม่ได้มีผลต่อการขับเคลื่อนทางสังคมรัสเซียในยุคนั้น เนื่องจากว่าซาร์นิโคลัสที่สองไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่พสกนิกรชาวรัสเซีย แม้ว่าพระองค์จะได้รับการถวายเกียรติและเป็นที่รักใคร่ต่อพระราชอาคันตุกะมิตรสหายต่างประเทศก็ตาม
10.) สถานที่รำลึกและมือสังหาร
ผู้ที่ควบคุมการประหารในคราวนั้นคือยาคอฟ ยูรอฟสกี (Yakov Yurovsky) หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง (ตำรวจลับ) เชก้า ของโซเวียตแห่งภูมิภาคอูราล ในช่วงปี 1920 ยูรอฟสกีได้ส่งเครื่องเพชรที่เป็นของซาร์และพระราชวงศ์ไปให้กับรัฐบาลเครมลินเพื่อเป็นการรายงานว่าเป็นทรัพย์สมบัติของซาร์ผู้ล่วงลับ และในเวลาต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่งในรัฐบาลบอลเชวิก ก่อนที่จะถึงแก่กรรมในปี 1938 ช่วงการกวาดล้างศัตรูการเมืองของสตาลินพอดีซึ่งสาเหตุคือเป็นฝีในกระเพาะอาหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโดนกวาดล้างแต่อย่างใด
ส่วนบ้านอิปาเทียฟถูกทำลายลงในปี 1977 โดยหัวหน้าคณะบริหารท้องถิ่นบอริส เยลต์ซินซึ่งต่อมาจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีรัสเซียและสร้างวัดแห่งหยดเลือดขึ้นแทนที่เพื่อรำลังและอุทิศซาร์นิโคลัสที่สองและพระราชวงศ์
อ่านบทความอื่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว >>> https://www.patourlogy.com/blog/inspiration
สนใจทัวร์เดินทางไปยังประเทศรัสเซีย และ อดีตสหภาพโซเวียตของเรา >>> https://www.patourlogy.com/destination/russia-and-ussr