เมื่อเอ่ยถึงกวางเรนเดียร์ หลายคนอาจนึกถึงเทศกาลคริสมาสต์ ซานตาคลอส และพาหนะที่นำของขวัญมาให้เด็กๆ ทั่วโลกจากขั้วโลกเหนือ กวางเรนเดียร์จัดเป็นหนึ่งในสัญญลักษณ์ของเทศกาลแห่งความสุขที่มักถูกนำมาเชื่อมโยงกับซานตาคลอส จนทำให้เรารู้สึกว่ามีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ ทว่าความจริงมีกลุ่มชาวพื้นเมืองชื่อว่า ซามิ (Sami) กลุ่มชาติพันธ์ที่มีเรื่องราวความใกล้ชิดกับกวางเรนเดียร์อย่างแนบแน่นที่น่าสนใจ
ชนเผ่า Sami คือใคร
ซาวซามิ (Sami) เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือสุดของยุโรปในดินแดนที่เรียกว่า Sapmi ซึ่งคลอบคลุมบริเวณทางเหนือของนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และ Kola ในคาบสมุทรในรัสเซีย ชาวซามิสืบสายเลือดมาจากชาติพันธ์โบราณที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแถบนั้นมาตั้งแต่หลังยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และรัสเซีย
ความสัมพันธ์ระหว่างชาวซามิ (Sami) กับกวางเรนเดียร์
ชาว Sami ฝึกการต้อนกวางเรนเดียร์แบบดั้งเดิมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 การเลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นวิถีชีวิตของชาวซามิ มีการอพยพย้ายถิ่นฐานพร้อมกวางเรนเดียร์ อาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวที่มีลักษณะเป็นกระโจมขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า lavvu สำหรับชาวซามิกวางเรนเดียร์เป็นสิ่งมีค่ามาก
การเลี้ยงปศุสัตว์แบบดั้งเดิม กวางเรนเดียร์ถูกใช้เป็นแรงงาน อาหาร เสื้อผ้า และเพื่อการค้า ก่อนศตวรรษที่ 17 ยังไม่มีการต้อนกวางเรนเดียร์เป็นสัตว์เลี้ยง พวกเขาจะล่ากวางเรนเดียร์ป่าเพื่อการดำรงชีพ โดยใช้ขนและหนังมาทำเป็นเสื้อผ้า นำเขากวางมาทำเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ และบริโภคเนื้อเป็นอาหาร ความต้องการของพวกเขานั้นเรียบง่าย และจะล่าสัตว์เพื่อบริโภคเองในครอบครัวเท่านั้น นอกจากนั้นพวกเขาจะล่านก ปลา และเก็บผลเบอร์รี่ในช่วงฤดูร้อนไว้เป็นอาหาร จึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก
ทว่าวิถีชีวิตของชาวซามิ ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 17 อันเป็นผลมาจากการสร้างชาติในแผ่นดินที่พวกเขาเคยอยู่อาศัย ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และคาบสมุทรโคลาของรัสเซีย แต่ละประเทศต่อสู้เพื่อแย่งดินแดนและต้องการรวมชาว Sami เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชากรเพื่อช่วยในการก่อสร้างชาติ เป็นผลให้พวกเขาชาวซามิถูกเก็บภาษีในฐานะประชาชน
แต่เนื่องจากชาวซามิ ไม่เคยใช้ชีวิตในรูปแบบของคนเมือง พวกเขาไม่มีเงินในรูปแบบสกุลหลัก เขาพวกจึงต้องจ่ายภาษีในรูปของเนื้อและหนังกวางเรนเดียร์แทน นี่คือจุดเริ่มต้นของการต้อนเลี้ยงกวางเรนเดียร์ของพวกเขาในยุคถัดมา
ทักษะการต้อนเลี้ยงกวางเรนเดียร์ของชาวซามิ
การเลี้ยงกวางเรนเดียร์ในนอร์เวย์ส่วนใหญ่อยู่ในแถบภาคเหนือในพื้นที่ที่เรียกว่า ฟินน์มาร์ค (Finnmark) ซึ่งจะเดินตามทางเส้นทางอพยพของทุกปี แต่ละครอบครัวจะมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นประจำตลอดเส้นทาง โดยที่ดินทั้งหมดยังคงเป็นพื้นที่ส่วนรวม หน้าที่การเลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นหน้าที่ของทุกคนในครอบครัว ซึ่งจะทำงานและตั้งค่ายพักแรมร่วมกัน
ผู้หญิงมีบทบาทเท่าเทียมกันกับผู้ชายในการต้อนฝูงสัตว์ ส่วนเด็กๆจะได้รับมอบหมายหน้าที่เหมาะสมกับวัยของพวกเขา ประเพณีการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ถูกเรียนรู้และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เด็กๆ ที่เดินทางย้ายถิ่นฐานไปพร้อมพ่อแม่จะค่อยๆ เรียนรู้การเลี้ยงกวางจากประสบการณ์ในการช่วยงานพ่อแม่เพื่อสืบทอดต่อไปนั่นเอง
ทักษะของซาวซามิในการเลี้ยงกวางเรนเดียร์
- ประการแรก ต้องรู้จักกวางแต่ละตัวในฝูงของตนเป็นอย่างดี จากการสังเกตอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งปี
- ต้องรู้พฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของฝูง
- เข้าใจทิศทางลม สภาพภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของฝูง
คนเลี้ยงกวางจะมีบทบาททั้งในการต้อนและการดูแลสัตว์ด้วย โดยต้องสร้างความสมดุลย์ของขนาดฝูงให้อยู่ในจำนวนกำลังพอดี ต้องตัดสินใจว่ากวางตัวใดใช้บริโภค ตัวใดใช้แรงงาน ตัวใดเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน โดยขนาดของฝูงจะต้องได้สัดส่วนกับพื้นที่ทุ่งเลี้ยงกวางที่มีอยู่ด้วย โดยมากชาวซามิจะทำเครื่องหมายไว้ที่หูของกวางเพื่อแยกกวางเรนเดียร์ของตนออกจากฝูงของครอบครัวอื่นๆ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากรัฐบาล
ในอดีตชาวซามิเคยอยู่ในบริเวณทุ่งทุนดราทางเหนือของสแกนดิเนเวียมาหลายศตวรรษ จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงศตวรรษที่ 20 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับพวกเขา จากนโยบายของรัฐบาลนอร์เวย์ทำให้มีคนต่างถิ่นค่อยๆ อพยพเข้าใปในดินแดนหรือเส้นทางอพยพของชาวซามิมากขึ้น
แต่ด้วยพื้นเพของชาวซามิเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างเป็นมิตรและต้อนรับคนแปลกหน้า แต่ลัทธิชาตินิยมในขณะนั้นและการเกษตรสมัยแผนใหม่ ขัดแย้งกับวิถีชีวิตของชาวซามิอย่างมาก ในประวัติศาสตร์ชาวซามิไม่ชินกับการลงหลักปักฐานหรือการเป็นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งกวางเรนเดียร์เองต้องอพยพไปตามแหล่งอาหารตามฤดูกาล
เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเรื่องการเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณทางตอนเหนือของสแกนดิเนเวีย ชาวเซมิซึ่งไม่ชอบการเผชิญหน้าและความขัดแย้ง จึงเลือกที่จะย้ายขึ้นไปทางเหนือไปตั้งถิ่นฐานบริเวณ Sapmi แทน
การเสื่อมสลายของวัฒนธรรมซามิ
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีการเปลี่ยนแปลงต่อการการใช้ชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ของชาวซามิ เนื่องจากเด็กๆจะถูกบังคับให้เข้าโรงเรียนประจำเพื่อเรียนภาษานอร์เวย์ และไม่ได้รับอนุญาตให้พูดภาษาพื้นเมือง เมื่อเติบโตมาท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ประเพณีการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ไม่ได้รับการส่งต่อเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
การขยายเขตอธิปไตยของรัฐบาลนอร์เวย์จากด้านใต้สู่ทางเหนือ การพัฒนาอุตสาหกรรมในดินแดน Sapmi ผนวกกับการกลืนกลายทางวัฒนธรรม และการที่รัฐบาลที่ไม่ยอมรับสิทธิในที่ดินของชาวซามิ ล้วนส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20
ข้อพิพาทของชาวซามิกับโลกที่เปลี่ยนไป
หลังสงครามโลกครั้งที่สองรัฐบาลมีความพยายามในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ รัฐบาลมีการสร้างรั้วและกั้นคอกที่ออกแบบเพื่อให้กวางเรนเดียร์อยู่ในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีขอบเขตชัดเจนเพื่อการควบคุมจำนวนกวางเรนเดียร์ และเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษี ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการต้อนฝูงสัตว์แบบดั้งเดิม
โดยเฉพาะระบบขนส่งที่ใช้ยานพาหนะสมัยใหม่ เช่น สโนว์โมบิล เฮลิคอปเตอร์ และเรือ ทำให้การต้อนกวางเรนเดียร์ใช้เวลาน้อยลงมาก แต่ปัญหาที่ตามมาคือผลเสียทางด้านสภาพแวดล้อม เช่น เสียงยานพาหนะที่ดัง ทำให้กวางเรนเดียร์หวาดกลัวและเครียด สโนว์โมบิลทำให้หิมะอัดตัวแน่นจนกวางเรนเดียร์ขุดหาอาหารได้ลำบากขึ้น
และเมื่อหิมะละลายหมดแล้ว ยานพาหนะสมัยใหม่จะรบกวนหน้าดินในบริเวณที่เป็นแหล่งอาหารของกวางเรนเดียร์ นอกจากนี้ ยังสูญเสียความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้เลี้ยงและกวางเรนเดียร์ซึ่งเคยมีอยู่ในการต้อนเลี้ยงสัตว์ตามแบบดั้งเดิมอีกด้วย
จนในปี 1989 หลังจากการประท้วงหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำ Altaelva ทางตอนเหนือของนอร์เวย์ หรือที่รู้จักในชื่อ “ข้อพิพาท Alta” ชาว Sami จึงมีรัฐสภาของตัวเอง โดยสามารถเลือกผู้แทนเข้ามาทำงานในรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Finnmark ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามเมืองหลวงของชาวซามิ
ชาว Sami ยุคใหม่
แม้ปัจจุบันชาวซามิอาจไม่สามารถกลับไปเลี้ยงกวางเรนเดียร์ในแบบดั้งเดิมได้อีก แต่วัฒนธรรมและประเพณีของชาว Sami ยังมีปรากฎให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายตัดเย็บเองสีสันสดใส ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมือง และการจับกวางเรนเดียร์ด้วยการคล้องเชือก ดนตรีพื้นเมืองที่มีชีวิตชีวาคล้ายเพลงแร็พ ไปจนถึงสถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัย และกวางเรนเดียร์ก็ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติในเทือกเขาที่มีพรมแดนติดกับสวีเดนและนอร์เวย์
ในปัจจุบันมีการประมาณการว่ามีกวางเรนเดียร์ประมาณ 500,000 ตัวในสวีเดนและนอร์เวย์ และชาว Sami กระจายตัวอาศัยอยู่ในสี่ประเทศคือ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย ประมาณเกือบสองแสนคน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในนอร์เวย์ โดยน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้ที่ยังพูดภาษาพื้นเมืองได้ ชาวซามิในนอร์เวย์อาศัยอยู่ในเกือบทุกส่วนในภาคเหนือของนอร์เวย์ ส่วนในภาคใต้ของประเทศจะอาศัยอยู่ในเมือง Trøndelag และ Femundsmarka ใน Hedmark
ท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชาวซามิ
ในประเทศนอร์เวย์ทางตอนเหนือ เช่น ใน Finnmark นักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวซามิ เช่น สามารถพักแรมใน lavvo ซึ่งเป็นกระโจมของชนเผ่าแบบเดิม ชมแสงเหนือ และสัมผัสกับกวางเรนเดียร์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการชมนิทรรศการศิลปะของชาวซามิซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เทศกาลของชาวซามิ
ทุกเดือนกรกฎาคม จะมีการจัดเทศกาลพื้นเมืองนานาชาติที่ชื่อ Riddu Riđđu Festivàla ที่ Manndalen ใน Troms จะมีศิลปินและแฟนเพลงจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมคอนเสิร์ตภายใต้พระอาทิตย์เที่ยงคืน โดยในเทศกาลจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ ที่เมือง Tromsø จะมี Sami’s week เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันชาติของชาวซามิ ซึ่งเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การแข่งกวางเรนเดียร์ ซุ้มอาหาร การละเล่นพื้นเมือง และการแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศในการขว้างเชือกคล้องกวาง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเทศกาลอีสเตอร์ของชาวซามิ ในเมือง Kaautokeino, Karasjok และ Márkomeannu ใน Gállogieddi ซึ่งนักท่องเที่ยวที่สนใจในวัฒนธรรมของชาวซามิ จะเดินทางไปร่วมงานแสดงคอนเสิร์ต นิทรรศการ รวมถึงกิจกรรมสนุกๆ เช่น สกู๊ตเตอร์ครอส และการแข่งกวางเรนเดียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเทศกาลอื่นๆ เช่น Sami Music Week ใน Alta, Tana Winter Festival และ Festival Skábma ใน Lebesby เป็นต้น
แหล่งชมกวางเรนเดียร์ตามธรรมชาติในแถบสแกนดิเนเวีย
1.) Lapland ประเทศสวีเดน
ใน Lapland ประเทศสวีเดนมีกวางเรนเดียร์อาศัยอยู่ประมาณ 300,000 ตัว ดินแดนแถบนี้มีชาวซามิอาศัยอยู่ราว 170,000 คน ชาวซามิเหล่านี้อาศัยอยู่ลึกลงไปในภูมิภาคอาร์กติกตอนเหนือ ซึ่งไม่เพียงแต่อยู่ในเขตแดนสวีเดน แต่ยังรวมถึงนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และรัสเซีย ในดินแดนที่เรียกกว่า Sapmi ด้วย กวางเรนเดียร์ถือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของพวกเขา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ Nutti Sami Siida เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติกับกวางเรนเดียร์และชนเผ่าซามิ มีกิจกรรมที่น่าสนใจเช่น เลื่อนหิมะที่ลากด้วยกวางเรนเดียร์ เป็นต้น
2.) Svalbard, นอร์เวย์
บนหมู่เกาะ Svalbard ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างขั้วโลกเหนือและแผ่นดินใหญ่ของนอร์เวย์ เป็นที่ยู่อาศัยของกวางเรนเดียร์สายพันธุ์ที่เล็กที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่ากวางเรนเดียร์สฟาลบาร์ด (Svalbard Reindeer) ที่มีน้ำหนักระหว่าง 56 – 90 กิโลกรัม ซึ่งเล็กกว่ากวางเรนเดียร์ที่พบในที่อื่นมาก (กวางเรนเดียร์โดยทั่วไปตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 80 – 120 กิโลกรัม สำหรับตัวผู้จะมีน้ำหนักราว 160 – 180 กิโลกรัม)
กวางเรนเดียร์สฟาลบาร์ดไม่ค่อยเดินทางเป็นฝูงใหญ่ โดยปกติจะเห็นกวางเรนเดียร์ตัวเดียวหรือฝูงเล็กๆ ได้ทั่วทั้งหมูเกาะสฟาลบาร์ดโดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องเสาะแสวงหาเลย กวางเรนเดียร์สฟาลบาร์ดจะมีอยูเฉพาะที่ Svalbard เท่านั้น ไม่มีที่อื่นแม้ในหมู่เกาะที่อยู่ใกล้เคียง
3.) Tromsø, นอร์เวย์
เมืองทรุมเซอ (Tromso) เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปดูแสงเหนือ ที่นี่ยังเป็นดินแดนที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการมาชมกวางเรนเดียร์อีกด้วย Tromsø เป็นส่วนหนึ่งของเขต Lapland ของนอร์เวย์ ที่มีชาวซามิอาศัยอยู่กับฝูงกวางเรนเดียร์ ซึ่งผู้เยี่ยมชมจะได้ดื่มด่ำกับวัฒนธรรมของชาวซามิ สัมผัสประสบการณ์เลื่อนหิมะที่ลากโดยกวางเรนเดียร์ การให้อาหารกวางเรนเดียร์
นอกจากนี้ที่นี่จะมีบริการทัวร์พร้อมไกด์ท้องถิ่นให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ซึ่งนับว่าคุ้มมาก เพราะมาครั้งเดียวจะได้พบกับทั้ง แสงเหนือ ชาวซามิ และ กวางเรนเดียร์ในเวลาเดียวกัน
4.) อื่นๆ
แหล่งชมกวางเรนเดียร์ยังมีอยู่ในเมืองอื่นๆ ของยุโรป เช่นที่ Lapland ฟินแลนด์ และที่ Cairngorms สก๊อตแลนด์ ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ ที่อุทยานแห่งชาติ Denali ในอลาสก้า และ ที่เมือง Inuvik ในแคนาดา เป็นต้น
บทสรุป
กวางเรนเดียร์เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวซามิ กวางเรนเดียร์ถูกใช้เป็นแรงงานในการลากรถเลื่อน ขนและหนังของพวกมันนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าให้ความอบอุ่น เขากวางที่แข็งแรงใช้สำหรับทั้งสินค้าอุปโภคและเครื่องประดับ เนื้อกวางเรนเดียร์เป็นส่วนประกอบสำคัญของประเพณีการทำอาหาร จะเห็นได้ว่าชาวซามิ และกวางเรนเดียร์มีความผูกพัน พึ่งพาอาศัยกันและกันมาหลายร้อยปี จนมีคำกล่าวโบราณที่เป็นตำนานเล่าขานถึงคำสัญญาระหว่างชาวซามิ กับกวางเรนเดียร์ว่าพวกเขาจะดูแลกันและกันตลอดไป
อ้างอิง
- Reindeer Herding in Norway : วัฒนธรรมของชาวซามิ
- EXPERIENCE THE SAMI CULTURE IN NORWAY
- สถานที่ที่สามารถสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวซามิ
อ่านบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอื่นๆต่อได้ที่ >>>> www.patourlogy.com/blog/inspiration